Customer Life Cycle คืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง

Riki Kimura wisible author

Riki Kimura

Digital Marketing Executive at Wisible

the woman receive money from customer with the text "customer life cycle คืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง

ลูกค้าหรือผู้บริโภค มีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างยอดขายให้กับองค์กรธุรกิจ การให้ความสำคัญกับลูกค้าควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจบริการให้มีคุณภาพ ไม่เพียงช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมีผลกำไรตามเป้าหมายเท่านั้น แต่การเข้าถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคหรือ Customer Life Cycle ยังหมายถึงความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจอีกด้วย

Customer Life Cycle คืออะไร

Customer Life Cycle คือ วงจรชีวิตของลูกค้า หรือวงจรการตัดสินใจของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าและบริการ เป็นกระบวนการบริหารด้านการตลาด ด้วยการสื่อสารกับลูกค้าในแต่ละช่วงเวลา เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า เริ่มตั้งแต่การเข้ามาเป็น Lead ซึ่งก็คือลูกค้าที่มีความเป็นไปได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสู่ขั้นต่อไปที่สามารถตัดสินใจซื้อสินค้ากับเราหรือองค์กร จนเป็นลุกค้าและเข้ารับบริการหลังการ จนไปถึงการเป็นลูกค้าที่ภักดีในที่สุด

Customer Life Cycle กับการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า

การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า หมายถึง กลยุทธ์ทางการตลาดที่เน้นตอบสนองความคาดหวังของลูกค้า โดยมีกระบวนการสำคัญคือ Customer Life Cycle ซึ่งเป็นวงจรการตัดสินใจของลูกค้า ช่วยให้การสื่อสารในแต่ละช่วงเวลา สามารถเข้าถึงพฤติกรรมความต้องการของลูกค้าได้ชัดเจน เมื่อรับรู้ความต้องการที่แท้จริง ก็จะทำให้องค์กรธุรกิจนำมาปรับปรุงทั้งเรื่องของการพัฒนาสินค้า การปรับปรุงระบบการให้บริการ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมทางการตลาด ที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้า จนทำให้เกิดความประทับใจต่อสินค้าและบริการและกลายเป็นลูกค้าในที่สุด นอกจากนั้น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ยังทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ เชื่อมั่นในสินค้าและแบรนด์ จนเกิดการซื้อซ้ำหรือเป็นลูกค้าประจำในระยะยาวอีกด้วย

Customer Life Cycle วงจรชีวิตของลูกค้า กับการกำหนดกลยุทธ์การตลาด

Customer Life Cycle หรือวงจรชีวิตของลูกค้า มีความสำคัญต่อการกำหนดกลยุทธ์การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างมาก เนื่องจากองค์กรธุรกิจจะต้องรู้หรือเข้าใจลูกค้าในเชิงลึก เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาวางแผนบริหารด้านการตลาด โดยกำหนดกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย ดังนี้

  1. ใครคือกลุ่มลูกค้าที่แท้จริง
  2. อะไรคือสินค้าและบริการที่ตรงใจ
  3. เมือไรลูกค้าจะตัดสินใจ
  4. ทำอย่างไรให้ลูกค้าอยู่กับเราได้นาน ๆ
  5. ทำอย่างไรให้ลูกค้ามีการซื้อซ้ำ

กลยุทธ์การตลาด คืออะไร

กลยุทธ์การตลาด หรือ marketing strategy คือ แนวทางในการส่งเสริมการขายขององค์กรธุรกิจที่ถูกกำหนดขึ้นสำหรับสร้างหรือพัฒนาสินค้าและบริการ ให้ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและตลาดเป้าหมาย โดยองค์กรธุรกิจจะต้องจัดสรรทรัพยากร เลือกวิธีการ วางแผน จัดลำดับขั้นตอนในการลงมือทำการตลาดอย่างมี ‘ชั้นเชิง’ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการตลาดหรือเป็นไปตามเป้าหมายทางธุรกิจที่กำหนดไว้

องค์ประกอบของกลยุทธ์ทางการตลาด มีอะไรบ้าง

กลยุทธ์ทางการตลาด เปรียบเสมือนแผนที่ที่จะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย ดังนั้นการกำหนดกลยุทธ์จึงเป็นเรื่องของการ “จะทำอย่างไรให้องค์กรธุรกิจไปถึงเป้าหมายได้” โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้

  • ขอบเขต กลยุทธ์การทางการตลาดจะต้องมีขอบเขตของการดำเนินงานที่ครอบคลุมทั้งระบบ
  • เป้าหมายและวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ทางการตลาดจะต้องมีการกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์รวมทั้งกำหนดระดับความสำเร็จของการดำเนินงานให้ชัดเจน
  • การจัดสรรทรัพยากร กลยุทธ์ทางการตลาดจะต้องมีการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด เช่น ทรัพยากรทางการเงิน ทรัพยากรสำหรับการลงทุน รวมทั้งทรัพยากรบุคคล
  • การได้เปรียบทางการแข่งขัน กลยุทธ์ทางการตลาดจะต้องมีการระบุการได้เปรียบทางการแข่งขัน เพื่อให้สามารถวางแผนการดำเนินงานในขั้นต่อ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • สนับสนุนระบบบริหาร กลยุทธ์ทางการตลาดจะต้องสามารถส่งเสริม และสนับสนุนหน่วยธุรกิจขององค์กรให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งทางด้านการตลาด การจัดสรรทรัพยากร และด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน

ตัวอย่าง กลยุทธ์ทางการตลาดที่นักธุรกิจต้องรู้

กลยุทธ์การตลาด 8P

กลยุทธ์การตลาด 8P คือ กลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับการดำเนินงานทางการตลาด ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์ขั้นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาและต่อยอดเป็นกลยุทธ์อื่น ๆ กลยุทธ์การตลาด 8P ประกอบด้วย

  • Product กลยุทธ์ทางการตลาดที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์
  • Price กลยุทธ์ทางด้านราคา
  • Place กลยุทธ์ช่องทางการจัดจำหน่าย
  • Promotion โปรโมชั่นหรือการส่งเสริมการตลาด
  • Packaging กลยุทธ์เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ เพราะบรรจุภัณฑ์เปรียบเสมือนเป็นหน้าตาของสินค้า
  • Personal พนักงานขาย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล ไม่สามารถทำการลอกเลียนแบบได้ง่าย
  • Public Relation กลยุทธ์การใช้ข่าวสารในการชักจูงผู้บริโภค
  • Power กลยุทธ์ทางการตลาดเกี่ยวข้องกับอำนาจ เป็นกลยุทธ์ที่ใช้สำหรับการต่อรอง ควบคุม

กลยุทธ์ส่งเสริมการขาย

กลยุทธ์ส่งเสริมการขาย คือกลยุทธ์ทางการขายที่มีลักษณะเป็นกิจกรรมมักจะใช้ร่วมกับการโฆษณาหรือการขายโดยใช้พนักงานขาย เป้าหมายของกลยุทธ์นี้ได้แก่

  • การส่งเสริมการขายที่มุ่งสู่ผู้บริโภค เพื่อจูงใจให้เกิดการซื้อจำนวนมากขึ้น ตัดสินใจซื้อได้รวดเร็ว หรือเกิดความต้องการที่จะทดลองใช้สินค้า
  • การส่งเสริมการขายที่มุ่งสู่คนกลาง เป็นการส่งเสริมการขายที่มุ่งสู่พ่อค้าคนกลาง ผู้จัดจำหน่ายหรือผู้ขาย เพื่อกระตุ้นให้คนกลางแนะนำผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใหม่ ๆ
  • การส่งเสริมการขายที่มุ่งสู่พนักงาน เป็นการกระตุ้นให้หาลูกค้ารายใหม่หรือหาผู้จัดจำหน่ายเพิ่มเติมให้กับองค์กร

กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์

กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ คือ กลยุทธ์เกี่ยวกับการออกแบบคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์และฉลากเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงการสร้างความแตกต่างของสินค้าและบริการเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ หรือเกี่ยวกับต้นทุนของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากการมีต้นทุนต่ำในการผลิตจะช่วยให้มีศักยภาพในการแข่งขันสูง

กลยุทธ์ด้านราคา

กลยุทธ์ด้านราคา คือ กลยุทธ์การตั้งราคาที่ต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตบวกผลกำไร โดยหลัก ๆ แล้วการตั้งราคามีอยู่ 5 ลักษณะซึ่งส่งผลในด้านจิตวิทยาอย่างมาก ดังนี้

  1. การตั้งราคาสูงกว่าตลาด เป็นการบริหารด้านการตลาดโดยเน้นที่ “คุณภาพมากกว่าปริมาณ”
  2. ตั้งราคาต่ำกว่าตลาด เป็นการบริหารด้านการตลาดเพื่อทำกำไร โดยเน้นที่ “ปริมาณมากกว่าคุณภาพ”
  3. ตั้งราคาประหยัด คือราคาของสินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐานของตลาดอยู่แล้ว การสร้างกำไรจากกลยุทธ์นี้ได้แก่การควบคุมราคาต้นทุนของธุรกิจให้ต่ำลง
  4. ตั้งราคากวาดตลาด หมายถึง ตั้งราคาสูงกว่าปกติเอาไว้ จากนั้นค่อยลดราคาลงมาตามปกติส่งผลให้ลูกค้ามองว่าเวลานี้คือโอกาสในการเข้าซื้อสินค้า กลยุทธ์การทำไรในข้อนี้ต้อง “เลือกช่วงเวลาให้เหมาะสม”
  5. การตั้งราคาให้ลงท้ายด้วยเลข 9 กลยุทธ์ด้านราคาจะส่งผลต่อลูกค้าก็ต่อเมื่อเลขด้านหน้าสุดมีการลดลง เช่น จากราคา 300 เหลือ 299 เป็นหลักจิตวิทยาที่จะทำให้ลูกค้ามองว่าของชิ้นนี้ราคา 200 กว่าบาท หากเปรียบเทียบจาก 350 เหลือ 349 ถึงจะลดราคาเท่ากันแต่ราคาโดยรวมยังอยู่ใน 300 เหมือนเดิม

กลยุทธ์การให้ข่าวสาร

กลยุทธ์การให้ข่าวสาร หมายถึง กลยุทธ์การตลาดด้านข่าวสารและไม่ใช่การโฆษณา แต่เป็นการประชาสัมพันธ์เรื่องราวขององค์กรธุรกิจไปสู่สาธารณชน เพื่อช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือการช่วยเหลือเพื่อสังคม

งานขาย เกี่ยวข้องอย่างไรกับ Customer Life Cycle

งานขาย กับวงจรชีวิตของลูกค้า หรือ Customer Life Cycle เกี่ยวข้องกันโดยตรง เนื่องจากการงานขายเป็นหัวใจหลักในการสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจ นอกจากนั้นในขั้นตอนการขาย ยังมีกระบวนการ พัฒนาและรักษากำลังการขายขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ โดยการควบคุมทีมขายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขาย กระบวนการขาย และวางแผนจัดกิจกรรมทางการตลาดอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วงเวลา หรือตามลักษณะวงจรชีวิตของลูกค้าตามช่วงเวลานั้น ๆ เริ่มตั้งแต่เข้ามาสนใจสินค้า สั่งซื้อสินค้า เป็นลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำและขอรับบริการหลังการขาย จนท้ายที่สุดเป็นลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์สินค้าในระยะยาว ซึ่งองค์รวมของกระบวนการนี้เรียกว่า customer life cycle management

Customer life cycle management คืออะไร

Customer Lifecycle Management คือ การบริหารวงจรการทำธุรกิจลูกค้า ซึ่งเป็นกระบวนการในการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ลูกค้า เริ่มมาเป็นลูกค้าขององค์กร การมอบคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ไปจนถึงการรักษาลูกค้าไว้ให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ ซึ่งการบริหารวงจรการทำธุรกิจของลูกค้า หรือ customer life cycle management ประกอบด้วย Customer Acquisition การหาลูกค้าใหม่ Developing Customer Value การเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้า และCustomer Retention การรักษาลูกค้า ดังนี้

Customer Acquisition หรือ การหาลูกค้าใหม่

การหาลูกค้าใหม่ หรือ Customer Acquisition คือการหาลูกค้าใหม่เข้าองค์กร ถือเป็นปัจจัยแรกของการบริหารวงจรการทำธุรกิจลูกค้า โดยการสร้างความโดดเด่นให้กับตัวสินค้าหรือบริการ จุดประสงค์เพื่อให้สินค้ามีความน่าสนใจ จนกลายเป็นที่ต้องการ หรือพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ปัญหาของลูกค้า ลูกค้าใหม่จะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มด้วยกัน ได้แก่

  • ลูกค้าใหม่ของผลิตภัณฑ์ ลูกค้ากลุ่มนี้มีการระบุความต้องการใหม่ในตัวสินค้าและบริการไว้อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ลูกค้ากลุ่มคุณแม่เข้ามาเป็นลูกค้าใหม่ของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากต้องการเลือกเสื้อผ้า เลือกของเล่น ให้เหมาะกับช่วงวัยของลูก
  • ลูกค้าใหม่ที่ดึงมาได้จากองค์กรธุรกิจคู่แข่ง ลูกค้าใหม่กลุ่มนี้ได้มาจากการนำเสนอคุณค่าของสินค้าและบริการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีกว่าธุรกิจคู่แข่ง เช่น สินค้าประเภทเดียวกัน ราคาไม่แตกต่าง แต่มีบริการจัดส่งหลากหลายรูปแบบ ทำให้สินค้าถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว บรรจุหีบห่อสวยงามและปลอดภัยในการจัดส่ง เป็นต้น

Developing Customer Value การเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้า

การเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้า หรือ Developing Customer Value หมายถึง การตอบสนองสิ่งที่ลูกค้าต้องการหรือเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ผ่านกระบวนการขายโดยระบบลูกค้าสัมพันธ์ หรือการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เป็นการเพิ่มความพึงพอใจให้กับลูกค้า เช่น การต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้า โดยใช้องค์ความรู้เดิม หรือปรับขั้นตอนการทำงาน ขั้นตอนการขายที่กระชับเพื่อการสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วและถูกต้อง

Customer Retention การรักษาลูกค้า

การรักษาลูกค้า หรือ  Customer Retention เป็นการรักษาฐานลูกค้าให้อยู่กับองค์กรให้นานที่สุด รวมทั้งการดึงลูกค้าให้กลับมาใช้สินค้าหรือบริการ โดยฟังความคิดเห็นจากลูกค้าและพนักงานในองค์กร รวมถึงการเสนอสินค้าและบริการใหม่ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและแสวงหาลูกค้าใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น 

Product Life Cycle คืออะไร

การบริหารงานขายเป็นกระบวนการ ที่ต้องทำงานร่วมกับบุคคลหลายฝ่ายทั้งในองค์กรและนอกองค์กร เพราะบทบาทสำคัญของ Sales Management หรือฝ่ายบริหารงานขายคือการพัฒนาและรักษากำลังการขายให้มีประสิทธิภาพ และนอกจากนั้น Product Life Cycle ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในการวางกลยุทธ์ธุรกิจให้ประสบความสำเร็จมียอดขายหรือผลกำไรตามเป้าหมายที่วางไว้

Product Life Cycle คือ วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ เป็นกระบวนการที่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เข้าสู่ตลาดตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนของการออกจากตลาด และวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ หรือ Product Life Cycle มีความสำคัญต่อการบริหารงานขาย เพราะเป็นกรอบการตลาด ที่ช่วยให้เห็นภาพและเข้าใจวิวัฒนาการการขายของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในช่วงเวลาหนึ่ง ที่เริ่มจากมีการเติบโตไปจนถึงจุดที่ถดถอย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประเภทผลิตภัณฑ์โดยบางผลิตภัณฑ์อาจใช้เวลาในแต่ละช่วงที่ยาวนานแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อาทิ คู่แข่งด้านการตลาด ความต้องการของผู้บริโภค รวมไปถึงความอิ่มตัวของตลาด วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์มีอยู่ด้วยกัน 4 ช่วง ได้แก่

ช่วงแนะนำผลิตภัณฑ์ (Introduction)

ช่วงแนะนำผลิตภัณฑ์ ในขั้นตอนนี้เมื่อผลิตภัณฑ์ได้ออกสู่ตลาดแล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแนะนำสินค้าให้เป็นที่รู้จัก ขั้นตอนบริหารงานขายจะต้องมีการลงทุนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้พร้อมสำหรับการผลักดันผลิตภัณฑ์ให้ติดตลาด

ช่วงเติบโต (Growth)

ในช่วงนี้ลูกค้าผู้บริโภค ได้เริ่มซื้อผลิตภัณฑ์จนกลายเป็นลูกค้าทั้งขาประจำและขาจร ในภาพรวมขององค์กร ช่วงเติบโตผลิตภัณฑ์จะอยู่ในชั้นที่กำลังเป็นที่นิยมในระดับหนึ่ง และเริ่มทำยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง และยังเป็นช่วงที่คู่แข่งเริ่มแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด องค์กรธุรกิจจึงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมให้ดียิ่งขึ้น เช่น การปรับปรุงรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ การขยายช่องทางการจัดจำหน่าย และการส่งเสริมการตลาดในแบบต่าง ๆ

ช่วงเติบโตเต็มที่หรือจุดอิ่มตัว (Maturity)

ช่วงเติบโตเต็มที่หรือจุดอิ่มตัวของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเมื่อผลิตภัณฑ์เข้าสู่ช่วงเติบโตเต็มที่แล้ว ยอดขายต่าง ๆจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆไม่รวดเร็วเท่ากับช่วงเติบโต และจะเริ่มเห็นสัญญาการชะลอตัวมากขึ้น หรืออาจเห็นยอดขายที่เริ่มลดลง  อาจเกิดจากการมีคู่แข่งใหม่ ๆเกิดขึ้น หรือความต้องการในตัวผลิตภัณฑ์เริ่มลดลง

แนวทางทำการตลาด หรือบริหารการขายในช่วงนี้อาจจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ ๆ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้บริโภค ในบางครั้งอาจต้องลดราคาหรือหาช่องทางในการลดค่าใช้จ่ายทางการตลาด เช่น เน้นทำการตลาดออนไลน์ หรือขายออนไลน์ เป็นต้น

ช่วงถดถอย (Decline)

ช่วงถดถอย (Decline) จะเป็นช่วงที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป มีความต้องการในผลิตภัณฑ์ลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากการแข่งขันด้านการตลาดที่สูงขึ้น แม้องค์กรธุรกิจจะพยายามรักษาการเติบโตของผลิตภัณฑ์ในช่วงอิ่มตัวให้ได้นานที่สุด แต่ก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงช่วงถดถอยได้ การบริหารการขาย ที่ฝ่ายขายทำได้ คือ การเร่งระบายผลิตภัณฑ์ออกไปให้ได้โดยเร็วที่สุด หรือการมุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่ยังมีความจงรักภักดีเพื่อมาซื้อซ้ำ รวมไปถึงการลดราคาลง

วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ สำคัญอย่างไร กับการวางกลยุทธ์ธุรกิจ

วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ที่แบ่งออกเป็น 4 ช่วง โดยเริ่มตั้งแต่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด ช่วงเติบโต ช่วงเติบโตเต็มที่หรือจุดอิ่มตัว และช่วงสุดท้ายคือช่วงถดถอย มีความสำคัญอย่างมากต่อการวางกลยุทธ์ธุรกิจ เพราะการรู้ถึงวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ หรือ Product Life Cycle นั้นจะช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถนำไปวางแผนการตลาดและกลยุทธ์ในการโปรโมทสินค้า ได้อย่างเหมาะสมกับแต่ละช่วงของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ เนื่องจากแต่ละช่วงพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมทั้งแนวทางการนำเสนอสินค้าและบริการนั้นมีวิธีการที่แตกต่างกัน

การวางกลยุทธ์ธุรกิจได้อย่างเหมาะสมกับแต่ละช่วงของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ยังช่วยให้ การบริหารวงจรการทำธุรกิจของลูกค้า หรือ Customer Life Cycle Management มีประสิทธิภาพ และยังสามารถคาดการณ์ถึงแนวโน้มของตลาด เพื่อการเตรียมตัวในการปรับแผนธุรกิจได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย

เทคนิคการทำ Customer Life Cycle        

จากความหมายของ Customer Life Cycle   ที่หมายถึงวงจรชีวิตของลูกค้า หรือวงจรการตัดสินใจของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าและบริการ ถือเป็นกระบวนการสำคัญในการบริหารงานขายให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ เนื่องจากการทำ Customer Lifecycle คือการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้นเป้าหมายของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ก็คือการทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจและเกิดความจงรักภักดีต่อแบรนด์มากที่สุด โดยมีเทคนิคการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ดังนี้

1.ระบบสะสมคะแนน

ระบบสะสมคะแนน เป็นเทคนิคสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยการสะสมแต้มหรือสระสมคะแนน จากการซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง การสะสมคะแนนนอกจากทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำเรื่อย ๆ ยังช่วยรักษาฐานลูกค้าและสร้างแรงจูงใจในการซื้อสินค้าหรือบริการ เพราะเมื่อลูกค้าได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากการสะสมคะแนน ย่อมพึงพอใจจนทำให้มีทัศนคติที่ดีต่อธุรกิจ

2.ระบบสมาชิก

ระบบสมาชิก เป็นระบบที่จะคอยช่วยเหลือธุรกิจให้สามารถคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว เรียกว่าเป็น CRM หรือ Customer Relationship Management ซึ่งระบบสมาชิก คือเครื่องมือทางการตลาดประเภทหนึ่งที่จะทำให้ลูกค้าได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆจากการเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการของธุรกิจ เช่น การได้รับส่วนลด หรือแลกสินค้าที่มีมูลค่า ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีงามกับลูกค้าทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจและส่งผลดีต่อธุรกิจด้วย 

3.ระบบคูปองอิเล็กทรอนิกส์

คูปอง เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างหนึ่งในการส่งเสริมการขายและการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าในระบบ ปัจจุบันระบบคูปองอิเล็กทรอนิกส์ หรือ คูปองดิจิทัล เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น คูปองใช้แทนเงินสด หรือ คูปองเป็นส่วนลดเงินบาท คูปองส่วนลดเปอร์เซ็นต์ (%) และคูปองฟรี มีรายละเอียดการใช้งานและระยะเวลาการใช้งานตามเงื่อนไข สามารถใช้งานได้ง่าย เพียงมีโทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ และมีอินเตอร์เน็ต ก็สามารถใช้คูปองได้แล้ว

สรุป

Customer Life Cycle คือ วงจรชีวิตของลูกค้า หรือวงจรการตัดสินใจของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าและบริการ โดยวงจรชีวิตของลูกค้าถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบบริหารงานขาย เพราะช่วยให้องค์กรธุรกิจมีแนวทางในการพัฒนาลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเลือกกลยุทธ์ธุรกิจให้เหมาะสมสำหรับบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ลูกค้าเริ่มมาเป็นลูกค้าขององค์กร การมอบคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ไปจนถึงการรักษาลูกค้าไว้ให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ และเมื่อธุรกิจมีลูกค้าที่พอใจในสินค้าและบริการแล้ว การครองใจผู้บริโภคให้เชื่อมั่นในแบรนด์ตราบนานเท่านานก็ทำได้ไม่ยาก

Book Demo Wisible

Similar Posts